ความหวังของ “กะลา”

สมาคมการค้าส่งเสริมหัตถกรรมไทย (THTA) ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรม ที่ หมู่บ้านปากบารา จังหวัดสตูล ภายใต้แบรนด์ “กะลาบารา” หนึ่งในผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก ของสมาคมฯ โดยมี นายจำรูญ ตาแหยบ หรือ บังดีน ประธานวิสาหกิจชุมชนหัตถศิลป์พื้นบ้าน เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้น เมื่อปี 2547 มีแนวความคิดทำธุรกิจในแนวทางอนุรักษ์และรักษา สิ่งแวดล้อม อีกทั้งต้องการหาอาชีพเสริมให้กับชาวบ้านในช่วงเว้นว่างจากการทำประมง ให้สามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ จึงเริ่มจากการนำเศษ “กะลา” สิ่งที่ชาวบ้านกองทิ้งขว้างใน พื้นที่ บวกกับฝีมือช่างที่มีและไอเดียที่สร้างสรรค์ “ลองผิดลองถูกอยู่สักพักกว่าที่ชาวบ้านจะเริ่มหันมาสนใจ” บังดีกล่าว เขาเริ่มจากการนำเศษกะลามาทำเป็น “เต่าตนุ” เป็นสินค้าชิ้นแรก ของผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว เพราะเป็นสิ่งที่เขาและชาวบ้านคุ้นเคย อีกทั้งยังต้องการสื่อให้คนอื่นๆ หันมาช่วยกันอนุรักษ์เต่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์และหายไปจากท้องทะเลไทย เขาวางแผน ให้ชาวบ้านเริ่มผลิตสินค้าอย่างจริงจังและใส่ใจ ดูแลควบคุมสินค้าทุกชิ้นด้วยความปราณีตที่สุด เพื่อหวังจะส่งมอบสิ่งที่ดีให้กับผู้ซื้อ “ผลิตออกมาทั้งที่ยังไม่มีตลาดรองรับ แต่ก็ลองทำให้ เต็มที่และดีที่สุด” บังดีนกล่าวเสริม

ปัจจุบันความหวังของ “กะลา” ของหมู่บ้านปากบารานี้ ได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐในจังหวัดสตูลและโรงแรมต่างๆ เพราะนอกจาก เต่าตะนุ ที่ถูกจัดให้เป็นของที่ระลึกจากจังหวัดสตูลแล้ว กะลาบารายังมีสินค้าอื่นๆ อาทิเช่น กล่องกระดาษทิชชู่ แจกัน กระถาง หรือแม้กระทั่งชุดโต๊ะเก้าอี้รูปทรงต่างๆ ให้เลือกชมเลือกซื้ออีกหลากหลาย นอกจากนี้ บังดีน ได้วางแผนการสร้างชุมชน แข็งแรง โดยสร้างศูนย์รวมของคนในชุมชนปากบารา ใช้เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ด้านฝีมือ งานช่าง งานหัตถกรรม หรือแม้กระทั่งเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆร่วมกัน เกิดเป็นศูนย์รวม (Community) ในการแลกเปลี่ยนความรู้ การถ่ายทอด และสืบทอดการรุ่นสู่รุ่นโดยแท้จริง

สามารถเยี่ยมชมเลือกชมและเลือกซื้อ “กะลา” ได้ที่หมู่บ้านปากบารา จังหวัดสตูล หรือ ซื้อสินค้าหัตถกรรมรักษ์โลกเพื่อเป็นกำลังใจให้กับชาวบ้านผู้ผลิต ภายใต้แบรนด์ “กะลาบารา” ได้ที่ ศูนย์การค้าเกษรอัมรินทร์ ชั้น 3 โซน The Urban Art, Design Living and Craft